William II (1859–1941)

ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๑๒–๒๔๘๔)

 ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งปรัสเซีย (King of Prussia) และจักรพรรดิองค์ที่ ๓ และองค์สุดท้ายในราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* ที่ปกครองจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๘–๑๙๑๘ ทรงมีนโยบายการปกครองที่ขัดแย้งกับเจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีเพราะมีพระราชประสงค์ที่จะใช้กำลังทหารขยายอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิเยอรมันไปทั่วโลกในขณะที่บิสมาร์คต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองกับมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ พระองค์ทรงทอนอำนาจของบิสมาร์คลง ยกเลิกระบบพันธมิตรและนโยบายต่างประเทศที่เรียกว่าระบบบิสมาร์ค (Bismarckian system) ทั้งนำเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* และทำให้จักรวรรดิเยอรมันล่มสลายลงด้วย

 ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ มีพระนามเดิมว่าเจ้าชายเฟรเดอริก วิลเลียม วิคเตอร์ อัลแบร์ทแห่งปรัสเซีย (Frederick William Victor Albert of Prussia) ประสูติเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ค.ศ. ๑๘๕๙ ณ กรุงเบอร์ลินปรัสเซีย เป็นพระโอรสองค์โตในเจ้าชายเฟรเดอริก วิลเลียม [(Frederick William) ซึ่งต่อมาคือ ไกเซอร์เฟรเดอริกที่ ๓ (Frederick III)*] พระมารดาคือเจ้าหญิงวิกตอเรียบรมราชกุมารี (Victoria, Princess Royal) พระราชธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗–๑๙๐๑)* แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ เจ้าชายวิลเลียมเป็นพระราชนัดดาองค์แรกในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระองค์มีพระอนุชา ๓ พระองค์และพระขนิษฐา ๔ พระองค์ เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงมีปัญหาขณะมีพระประสูติการทำให้แพทย์ต้องใช้อุปกรณ์ (คีม) ช่วย พระวรกายซีกซ้ายของพระโอรสองค์โตจึงได้รับผลกระทบทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นพระศอและพระกรผิดปรกติ พระกรข้างซ้ายสั้นกว่าข้างขวาและไม่สามารถใช้งานได้เหมือนคนทั่วไป อีกทั้งยังมีผลต่อระบบการได้ยินด้วย เมื่อทรงเจริญชันษาขึ้น เจ้าชายวิลเลียมทรงปกปิดความผิดปรกติของพระกรโดยมักฉายพระรูปด้วยการกอดพระอุระให้พระกรซ้ายอยู่ด้านในของพระกรขวา หรือพระหัตถ์ขวาทรงถือพระแสงกระบี่ ธารพระกร หรือถุงพระหัตถ์เพื่อให้พระกรซ้ายดูยาวขึ้น และเพื่อทรงพระวรกายได้อย่างสมดุล

 ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ เมื่อเจ้าชายวิลเลียมมีพระชันษา ๗ ปีทรงได้รับการถวายการศึกษาเป็นการส่วนพระองค์พร้อมกับพระอนุชาองค์รองคือ เจ้าชายไฮน์ริช (Heinrich) ดอกเตอร์เกออร์ก ฮินซ์เพเทอร์ (George Hinzpeter) พระอาจารย์วัย ๓๙ ปี เป็นพวกโปรเตสแตนต์นิกายกัลแวง (Calvinism) ที่เคร่งและยึดมั่นในหลักการว่าด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบ การเสียสละส่วนตัวและคุณค่าของการทำงานหนัก เขาไม่มีอารมณ์ขัน ทั้งยังเป็นคนเข้มงวดและเจ้าระเบียบซึ่งเห็นว่าองค์รัชทายาทต้องเรียนรู้หน้าที่ความรับผิดชอบและมีวินัยรวมทั้งต้องไม่ถูกอภิบาลอย่างพะเน้าพะนอ เพื่อที่พระองค์จะทรงปกครองบ้านเมืองในอนาคตอย่างมีวินัยและรังเกียจการประจบสอพลอ ฮินซ์เพเทอร์จึงมีอิทธิพลทางความคิดอย่างมากต่อเจ้าชายวิลเลียม โดยทั่วไปตารางเรียนของเจ้าชายวิลเลียมและพระอนุชาเริ่มเวลา ๖.๐๐ หรือ ๗.๐๐ นาฬิกา ในช่วงฤดูหนาว และเลิกเรียนเวลา ๑๘.๐๐ หรือ ๑๙.๐๐ นาฬิกา ตามความเหมาะสม มีช่วงพักพระอิริยาบถสำหรับเสวยตอนเช้าและเที่ยงซึ่งใช้เวลาไม่เกิน ๔๕ นาที หากมีผู้มาเฝ้าเป็นครั้งคราว พระองค์ต้องประทานเลี้ยงของว่างแก่บุคคลเหล่านั้นแต่ห้ามพระองค์ร่วมเสวยด้วยทรงเรียนภาษาละติน ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ คำสอนทางศาสนา ภูมิศาสตร์ รวมทั้งภาษากรีก อังกฤษ และฝรั่งเศสซึ่งจะมีพระอาจารย์ถวายความรู้ด้านภาษาอีก ๒ คน พระอาจารย์ห้ามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียน นอกจากนี้ยังต้องฝึกเล่นกีฬาทุกประเภทโดยเฉพาะการขี่ม้าให้เชี่ยวชาญ

 เจ้าชายวิลเลียมทรงฉลาดเฉลียวและมีทักษะด้านภาษาในขณะที่พระอนุชาค่อนข้างเฉื่อยและมีพระสติปัญญาปานกลาง พระอาจารย์จึงมุ่งเคี่ยวเข็ญเจ้าชายวิลเลียมเป็นพิเศษ และทรงเอาพระทัยใส่ในการเรียนเพื่อให้พระอาจารย์พอใจ ทรงโปรดวิชาประวัติศาสตร์โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สมัยโบราณและประวัติศาสตร์เยอรมัน วีรบุรุษของพระองค์คือพระเจ้าเฟรเดอริกมหาราช (Frederick the Great ค.ศ. ๑๗๔๐–๑๗๘๖) แต่การที่ฮินซ์เพเทอร์ชื่นชมยกย่องบิสมาร์คอย่างมาก ทำให้พระองค์เคารพนับถือบิสมาร์ค รวมทั้งไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๘๗๑–๑๘๘๘)* พระอัยกาเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม พระมารดาพยายามแยกพระโอรสให้ห่างจากการอบรมชี้นำจากบิสมาร์คและพระอัยกา เนื่องจากพระนางทรงนิยมความเป็นอังกฤษและประสงค์จะให้พระโอรสเติบโตแบบสุภาพบุรุษอังกฤษ พระมารดามักขัดแย้งกับพระอัยกาที่ไม่โปรดการอบรมเลี้ยงดูแบบอังกฤษ ทั้งไม่ให้ความสำคัญต่อการเรียนเท่าใดนักพระอัยกามักทรงนำเจ้าชายวิลเลียมไปร่วมงานพิธีต่าง ๆ ของกองทัพเพื่อกล่อมเกลาพระองค์ให้เชื่อมั่นในความเข้มแข็งของกองทัพ การเป็นผู้ปกครองที่มีวินัยความกล้าหาญ และการเสียสละตามแบบชายชาติทหาร โดยพระราชทานเครื่องแบบทหารและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อินทรีดำ (Order of Black Eagle) ชั้นสูงสุดแก่พระราชนัดดา เจ้าชายวิลเลียมจึงโปรดเครื่องแบบทหารและกิจกรรมของกองทัพ ใน ค.ศ. ๑๘๗๔ พระมารดาทรงหาทางแยกพระโอรสจากพระอัยกาด้วยการส่งพระองค์ไปศึกษา ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคาสเซิล (Kassel Gymnasium) ซึ่งเป็นโรงเรียนแนวเสรีนิยมของชนชั้นกลางทั่วไปแต่พระอัยกาก็ส่งฮินซ์เพเทอร์มาดูแลจนถึงช่วงเวลาที่พระราชนัดดาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยบอนน์ (Bonn)

 ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๘๑ เจ้าชายวิลเลียมขณะพระชนมายุ ๒๗ พรรษา อภิเษกสมรสกับเอากุสทา วิกทอเรีย เจ้าหญิงแห่งชเลสวิก-โฮลชไตน์ (Augusta Viktoria, Princess of Schleswig-Holstein) พระชันษา ๒๖ ปี พระธิดาองค์โตในเฟรเดอริกที่ ๘ ดุ๊กแห่งชเลสวิก-โฮลชไตน์ (Frederick VIII, Duke of Schleswig-Holstein) เจ้าหญิงทรงมีแนวความคิดอนุรักษ์ ในช่วงปีแรก ๆ มักขัดแย้งทางความคิดกับพระมารดาของพระสวามีอยู่เสมอเพราะมีพระอุปนิสัยแตกต่างกัน ต่อมาหลังเจ้าชายวิลเลียมขึ้นครองราชบัลลังก์ก็ทรงใกล้ชิดกับพระมารดามากขึ้นเพราะไกเซอร์วิลเลียมมักเสด็จไปประทับในกองทัพ พระนางจึงทรงว้าเหว่และชอบเสด็จงานการกุศลและบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชนร่วมกับพระมารดา ในเวลาต่อมาพระราชภารกิจดังกล่าวก็ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่ของประชาชน จักรพรรดินีเอากุสทา วิกทอเรียมีพระราชโอรส ๖ พระองค์ และพระราชธิดา ๑ พระองค์พระองค์เสด็จสวรรคตที่พระตำหนักโดร์น (Doorn) ในเมืองโดร์น เนเธอร์แลนด์ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๑ ขณะทรงลี้ภัยภายหลังเยอรมนีเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๘ เจ้าชายวิลเลียมเสด็จขึ้นครองราชสมบัติขณะพระชนมายุ ๒๙ พรรษา เฉลิมพระนามไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงมีนโยบายทางการเมืองและการต่างประเทศที่แตกต่างจากออทโท ฟอน บิสมาร์คอัครมหาเสนาบดี ทรงประสงค์จะขยายอำนาจและอิทธิพลของเยอรมนีให้เป็นที่ประจักษ์เพราะต้องการให้เยอรมนีได้ครอบครองนานาดินแดนที่แสงอาทิตย์สาดส่องไปถึง เฉกเช่นอังกฤษที่ได้สมญาว่าจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยลับขอบฟ้า พระองค์ทรงมีความชื่นชมศักยภาพทางทหารของจักรวรรดิเยอรมันและทรงเห็นว่าทหารและกองทัพมีบทบาทสำคัญในการรวมชาติเยอรมัน (Unification of Germany)*และสร้างความเข้มแข็งและยิ่งใหญ่ให้แก่จักรวรรดิหาใช่สมาชิกรัฐสภาไม่ แนวพระราชดำริดังกล่าวจึงทำให้พระองค์มุ่งมั่นที่จะใช้กำลังทหารเพื่อขยายอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิเยอรมันไปทั่วโลกซึ่งขัดต่อนโยบายและอุดมการณ์ของบิสมาร์คที่พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งด้านผลประโยชน์และการแข่งขันกับมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ นอกจากนี้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงต้องการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง ทั้งประสงค์จะได้อัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีที่ไม่ใช่นักการเมืองแต่เป็นข้าราชการที่ขึ้นตรงต่อพระองค์ พระองค์ทรงเชื่ออย่างลึกซึ้งในอำนาจเทวสิทธิ์ ความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น และพระราชอำนาจที่จะปกครองเยอรมนี ภายในช่วงเวลา ๒ ปี พระองค์ทรงขัดแย้งด้านการบริหารปกครองกับบิสมาร์ค เมื่อพระองค์ทรงพยายามลิดรอนอำนาจของบิสมาร์คโดยโปรดให้เสนาบดีทุกคนกราบทูลงานราชการต่อพระองค์โดยตรงไม่ต้องผ่านบิสมาร์คก่อน พระราชบัญชาดังกล่าวทำให้บิสมาร์คไม่พอใจและขอลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ตลอดจนถอนตัวจากการเมืองอย่างสิ้นเชิง

 การลาออกของบิสมาร์คได้ทำให้ระบบการทูตที่ซับซ้อนที่เรียกว่าระบบบิสมาร์คในการสร้างพันธมิตรกับมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ เพื่อโดดเดี่ยวฝรั่งเศสต้องสิ้นสุดไปด้วย ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงแต่งตั้งพลเอกเกออร์ก เลโอ กราฟ ฟอน คาพรีวี (Georg Leo Graf von Caprivi)* เป็นอัครมหาเสนาบดีคนใหม่เพราะทรงเชื่อว่าเขาเป็นคนนอบน้อมที่พร้อมจะคล้อยตามพระราชดำริ คาพรีวีขาดประสบการณ์ด้านการต่างประเทศและตกอยู่ใต้อิทธิพลของบารอนฟรีดริช ฟอน โฮลชไตน์ (Friedrich Von Holstein) อธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายการทูตของบิสมาร์ค คาพรีวีจึงถูกโน้มน้าวให้ทูลเสนอความเห็นต่อไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ เพื่อไม่ต่ออายุสนธิสัญญาประกันพันธไมตรี (Reinsurance Treaty)* กับรัสเซียที่หมดอายุลงใน ค.ศ. ๑๘๙๐ ซึ่งพระองค์ทรงเห็นด้วยการปฏิเสธดังกล่าวทำให้รัสเซียเห็นว่าเยอรมนีเข้าข้างออสเตรีย-ฮังการีที่มีปัญหาขัดแย้งกับรัสเซียในปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* และเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตนจึงหันไปผูกมิตรกับฝรั่งเศสและนำไปสู่การลงนามความตกลงในสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ (Dual Alliance 1894)* หรือความตกลงฝรั่งเศส-รัสเซีย (Franco-Russian Entente) นับเป็นการยุติการอยู่โดดเดี่ยวของฝรั่งเศสที่ดำเนินมากว่า ๒๐ ปี

 ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ มีพระราโชบายผ่อนปรนแก่พวกสังคมนิยมเพราะทรงหวังจะได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองดังกล่าว พระองค์จึงทรงสนับสนุนคาพรีวีในการดำเนินนโยบายประนีประนอมกับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ด้วยการยกเลิกการต่ออายุกฎหมายต่อต้านสังคมนิยม (Anti-socialist laws) ที่หมดอายุลงใน ค.ศ. ๑๘๙๐ แนวนโยบายดังกล่าวจึงเปิดโอกาสให้พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน (German Social Democratic Party)* กลับมามีบทบาทสำคัญทางการเมืองอีกครั้ง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๙๓ พรรคเอสพีดีและพรรคการเมืองฝ่ายขวาร่วมมือกันต่อต้านร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปกองทัพที่ไกเซอร์ทรงสนับสนุนอยู่เบื้องหลังซึ่งว่าด้วยการเพิ่มจำนวนทหารเกณฑ์ แต่ขณะเดียวกันก็ให้มีการลดเวลาประจำการจาก๓ปีเป็น๒ปีแม้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาจากสภาไรค์ชตาก (Reichstag) แต่คาพรีวีก็สูญเสียความนิยมลง ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๘๙๓ พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและขวาได้เสียงมากขึ้นในสภาไรค์ชตาก ชัยชนะของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายทำให้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงเริ่มหวาดวิตกเพราะเกรงกระแสการปฏิวัติจะก่อตัวขึ้นซึ่งเป็นภัยต่อพระองค์ ทรงประสงค์จะให้คาพรีวีเสนอร่างกฎหมายต่อต้านการปฏิวัติ (Anti-revolution law) เข้าสู่สภาไรค์ชตาก แต่เขาปฏิเสธ พระองค์จึงแสดงความไม่พอพระทัยต่อการบริหารของเขาและมีส่วนทำให้คาพรีวีซึ่งสูญเสียเสียงสนับสนุนข้างมากในสภาไรค์ชตากตัดสินใจลาออกในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๔ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ จึงแต่งตั้งเจ้าชายโฮเฮินโล โคลดวิก (Hohenlohe Chlodwig) ในวัย ๗๕ ปี ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีสืบแทน แต่ด้วยวัยสูงอายุและปัญหาสุขภาพทำให้เขามีบทบาทในการบริหารปกครองไม่มากนักและมักปล่อยให้งานราชการแผ่นดินเป็นหน้าที่ของแบร์นฮาร์ด ฟอน บือโลว์ (Bernhard von Bülow)* เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นคนโปรดของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ เมื่อโคลดวิกลาออกจากตำแหน่งในกลางเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ บือโลว์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดีสืบแทน

 ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ และบือโลว์มีความสนใจในนโยบายด้านการต่างประเทศร่วมกัน และต่างต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับอังกฤษให้ใกล้ชิดขึ้น แต่ไกเซอร์วิลเลียมทรงมักใช้อารมณ์และความรู้สึกส่วนพระองค์ในการตัดสินพระทัยด้านนโยบายต่างประเทศ และบ่อยครั้งทรงขาดพระวิจารณญาณในสิ่งที่ทรงกระทำหรือที่ตรัสไปซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบในด้านการทูตอันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนใน ค.ศ. ๑๘๙๕ ไกเซอร์ทรงส่งพระราชสารซึ่งต่อมาเรียกกันว่าโทรเลขครูเกอร์ (Kruger Telegram)* ให้แก่ประธานาธิบดีพอลครูเกอร์ (PaulKruger) แห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ (ซาร์) (South Africa Republic–SAR) หรือทรานสวาล (Transvaal) เพื่อแสดงความยินดีที่เขาสามารถรักษาเอกราชของทรานสวาลจากเหตุการณ์การจู่โจมของเจมสัน (Jameson Raid)* ไว้ได้โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากมหาอำนาจใด ๆ โทรเลขฉบับนี้ทำให้ทั้งอังกฤษและครูเกอร์เข้าใจว่าเยอรมนีพร้อมที่จะช่วยทรานสวาลทำสงครามกับอังกฤษในดินแดนแอฟริกาใต้ และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับอังกฤษ นอกจากนี้ เมื่อพระองค์ทรงสนับสนุนบือโลว์และจอมพลเรือ อัลเฟรด ฟอน เทียร์พิทซ์ (Alfred von Tirpitz)* เสนาบดีว่าการกระทรวงทหารเรือในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติทางทะเล (Naval Bill) ค.ศ. ๑๘๙๗ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางทะเลของเยอรมนีและเพื่อการดำเนินนโยบายแสวงหาอาณานิคม อังกฤษจึงยิ่งต่อต้านเยอรมนี และใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ก็ปฏิเสธที่จะเจรจาสร้างระบบพันธมิตรกับเยอรมนี ทั้งแยกตัวห่างออกไปมากขึ้น

 ความไม่พอใจของอังกฤษต่อเยอรมนีเปิดโอกาสให้เตโอฟีล เดลกาเซ (Théophile Delcassé) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสหาทางเจรจาสร้างความสัมพันธ์กับอังกฤษ และนำไปสู่ความตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส (Anglo-French Entente) หรือความตกลงฉันมิตร (Entente Cordiale) ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสองเกี่ยวกับข้อพิพาทต่าง ๆ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงเริ่มวิตกเรื่องสัมพันธภาพระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสพระองค์จึงหาทางเจรจากับซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔–๑๙๑๗)* แห่งรัสเซียเพื่อรื้อฟื้นระบบพันธมิตรระหว่างประเทศทั้งสองแต่ประสบความล้มเหลวเพราะรัสเซียซึ่งลงนามเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสในสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคีปฏิเสธที่จะร่วมมือด้วย อย่างไรก็ตามไกเซอร์วิลเลียมที่๒ก็ทรงใช้ความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ในฐานะญาติและพระสหายโน้มน้าวให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงลงพระนามในสนธิสัญญาบเยอร์เกอ (Treaty of Björkö) เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งมีสาระสำคัญคือหากประเทศใดประเทศหนึ่งถูกมหาอำนาจยุโรปโจมตีอีกประเทศหนึ่งจะช่วยเหลือทางทหาร บือโลว์ต่อต้านสนธิสัญญาฉบับนี้อย่างมากเพราะเห็นว่าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงทำสนธิสัญญาด้วยพระองค์เองซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งเงื่อนไขความตกลงก็ไม่เป็นผลดีกับเยอรมนี เพราะในขณะนั้นรัสเซียกับอังกฤษกำลังแข่งขันขยายอำนาจในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกส่วนกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียก็ต่อต้านสัญญาฉบับนี้เพราะรัสเซียเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส และรัสเซียยังต้องพึ่งฝรั่งเศสด้านการเงินเพื่อพัฒนาประเทศโดยเฉพาะการสร้างทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ในท้ายที่สุดซาร์นิโคลัสที่ ๒ จึงทรงเลิกสนธิสัญญาฉบับนี้

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ เยอรมนีขัดแย้งกับฝรั่งเศสในปัญหาโมร็อกโก และนำไปสู่วิกฤตการณ์โมร็อกโก (Moroccan Crisis)* ครั้งที่ ๑ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕–๑๙๐๖ เยอรมนีคาดหวังว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษและรัสเซียสั่นคลอนและคาดว่ารัสเซียซึ่งพ่ายแพ้ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔–๑๙๐๕)* ทั้งกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ คงจะไม่สามารถสนับสนุนฝรั่งเศสได้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ จึงทรงประกาศสนับสนุนอำนาจอธิปไตยของสุลต่านโมร็อกโก และทรงสัญญาจะพิทักษ์เอกราชของโมร็อกโก พระองค์ทรงเรียกร้องให้จัดการประชุมระหว่างประเทศขึ้นเพื่อพิจารณาปัญหาโมร็อกโกและเพื่อให้เยอรมนีสามารถแสดงบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้ ข้อเรียกร้องของพระองค์จึงนำไปสู่การประชุมอัลเคซีรัส (Algeciras Conference)* ระหว่างวันที่ ๑๖ มกราคมถึงวันที่ ๑๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๖ ซึ่งทำให้วิกฤตการณ์โมร็อกโกยุติลง ผลสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือเยอรมนีต้องยอมรับสิทธิพิเศษของฝรั่งเศสในโมร็อกโกและโมร็อกโกได้รับการค้ำประกันอธิปไตยจากประเทศมหาอำนาจที่เกี่ยวข้อง พระราชประสงค์ของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ที่จะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสจึงล้มเหลวและทั้ง ๒ ประเทศกลับมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นมากขึ้น ขณะเดียวกันอังกฤษและรัสเซียซึ่งตระหนักถึงนโยบายการขยายอำนาจของเยอรมนีก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระชับไมตรีระหว่างกันมากขึ้นและนำไปสู่การลงนามความตกลงอังกฤษ-รัสเซีย (Anglo-RussianEntente) ค.ศ. ๑๙๐๗ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน

 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๘ ขณะที่เสด็จเยือนอังกฤษ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ได้พระราชทานสัมภาษณ์เรื่องนโยบายต่างประเทศโดยทรงคาดว่าจะมีส่วนเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับอังกฤษแต่เมื่อหนังสือพิมพ์ The Daily Telegraph ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของพระองค์เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ว่าการเสริมสร้างกำลังทางทะเลของเยอรมนีมีเป้าหมายที่จะต่อต้านญี่ปุ่น ไม่ใช่อังกฤษดังที่เข้าใจกันและอื่น ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ทรงกล่าวโจมตีอังกฤษและพาดพิงถึงรัสเซียและฝรั่งเศสว่ามีส่วนยุยงให้เยอรมนีเข้าแทรกแซงในสงครามบัวร์ (Boer War)* ครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ พระราชดำรัสในบทสัมภาษณ์มีส่วนทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างเยอรมนีกับอังกฤษและรัสเซีย ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ถูกวิจารณ์โจมตีอย่างรุนแรงทั้งภายในและนอกประเทศ ทั้งสื่อมวลชนในเยอรมนียังตีพิมพ์ข้อเรียกร้องให้พระองค์ทรงรับผิดชอบด้วยการสละราชบัลลังก์ ขณะเดียวกันสภาไรค์ชตากก็เคลื่อนไหวให้มีการวางมาตรการจำกัดบทบาทการเมืองของพระองค์โดยเฉพาะด้านนโยบายต่างประเทศโดยข้อเท็จจริงก่อนที่ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ จะมีพระบรมราชานุญาตให้พิมพ์พระราชดำรัสในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว พระองค์ได้ส่งต้นฉบับไปให้บือโลว์พิจารณา แต่บือโลว์ไม่ได้ตรวจทานอย่างรอบคอบ และเมื่อมีการกระทู้ถามในสภาไรค์ชตาก เขากลับนิ่งเฉยและไม่ยอมรับความผิดพลาด ทั้งฉวยโอกาสจากสถานการณ์บีบบังคับให้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ซึ่งถูกกดดันจากมหาชน ขณะเดียวกันสภาไรค์ชตากก็ขอให้ทรงสัญญาจะจำกัดบทบาททางด้านการเมืองของพระองค์และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ บทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ The Daily Telegraph ซึ่งเรียกต่อมาว่ากรณีเดลี เทเลกราฟ (Daily Telegraph Affair)* ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ กับบือโลว์เสื่อมลงเพราะทรงเชื่อว่าบือโลว์มีเจตนาร้ายต่อพระองค์ หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ ไกเซอร์ก็ทรงลดบทบาททางการเมืองลงเป็นเวลาหลายเดือน

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๙ บือโลว์ขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองเสรีนิยมและอนุรักษนิยมที่สนับสนุนเขาเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณที่เสนอต่อรัฐสภา ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้บือโลว์ซึ่งในช่วง ๒–๓ ปีก่อนก็มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับคดีความสัมพันธ์ทางเพศที่เบี่ยงเบน (แต่เขาชนะคดี) เกิดความเบื่อหน่ายต่อการเมือง เขาจึงขอลาออกจากตำแหน่งซึ่งไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตทันทีเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๙ ไกเซอร์ทรงแต่งตั้งเทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์ ฮอลล์เวก (Theobald von Bethmann Hollweg)*เสนาบดีมหาดไทยซึ่งเป็นนักอนุรักษนิยมสายกลางให้ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีสืบแทน

 อัครมหาเสนาบดีคนใหม่พยายามดำเนินนโยบายใฝ่สันติ และปรับปรุงความสัมพันธ์กับอังกฤษให้ดีขึ้นโดยคาดหวังว่าจะทำความตกลงกันได้ในปัญหาการแข่งขันกันเสริมสร้างกำลังทางทะเล แต่ความไม่สันทัดเรื่องการต่างประเทศและการขัดขวางของฝ่ายทหารโดยเฉพาะจากเทียร์พิทซ์ เสนาบดีว่าการกระทรวงทหารเรือที่มุ่งแข่งขันด้านกำลังทางทะเลกับอังกฤษ โดยสนับสนุนการสร้างเรือรบขนาดใหญ่ชื่อนัสเซา (Nassau) เพื่อแข่งขันกับเรือเดรดนอต (Dreadnought)* ของอังกฤษ ทำให้นโยบายของฮอลล์เวกประสบความล้มเหลว เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โมร็อกโกครั้งที่ ๒ หรือที่เรียกว่าวิกฤตการณ์อากาดีร์ (Agadir Crisis)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ เยอรมนีได้ส่งเรือรบแพนเทอร์ไปยังเมืองท่าอากาดีร์โดยอ้างว่าเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์และคุ้มครองชาวเยอรมัน อังกฤษซึ่งเห็นว่าเยอรมนีมีจุดมุ่งหมายแอบแฝงจะใช้เมืองท่าอากาดีร์เป็นฐานทัพเรือเพื่อโจมตีอังกฤษในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกจึงสนับสนุนฝรั่งเศสต่อต้านเยอรมนี เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษก็ประกาศแข็งกร้าวว่าอังกฤษจะไม่ยอมซื้อสันติภาพไม่ว่าราคาใดก็ตาม ขณะเดียวกันอังกฤษก็เริ่มเตรียมกำลังทางทะเล ในท้ายที่สุดเยอรมนีต้องถอนกำลังออกจากเมืองอากาดีร์และยอมให้โมร็อกโกเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส วิกฤตการณ์โมร็อกโกนับเป็นการพ่ายแพ้ทางการทูตครั้งสำคัญของเยอรมนีและทำให้อังกฤษกับฝรั่งเศสและรัสเซียมีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นมากขึ้น กองทัพและกลุ่มอนุรักษนิยมจึงเห็นว่าฮอลล์เวกเป็นผู้นำที่อ่อนแอและเริ่มหาทางที่จะกำจัดเขา อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามบอลข่าน (Balkan War)* ครั้งที่ ๑ (ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๒–พฤษภาคมค.ศ. ๑๙๑๓)ฮอลล์เวกประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการปรับความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับอังกฤษให้ดีขึ้น เขาร่วมมือกับเซอร์เอดเวิร์ด เกรย์ (Edward Grey)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในการพยายามแก้ปัญหาวิกฤตการณ์บอลข่าน และทำความตกลงกันเกี่ยวกับการแบ่งอาณานิคมของโปรตุเกสในแอฟริกาและเส้นทางรถไฟสายเบอร์ลิน-แบกแดด (Berlin-Baghdad Railway) ในดินแดนจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)*

 เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จประพาสกรุงเซราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงของบอสเนีย (Bosnia) เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๔ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงตกพระทัยและโทมนัสอย่างมากเพราะทรงผูกพันกับองค์รัชทายาท พระองค์เคยแสดงความเห็นพระทัยในความรักที่มั่นคงของอาร์ชดุ๊กต่อเคาน์เตสโซฟี โชเต็ก (Sophie Chotec)* สตรีสูงศักดิ์เชื้อสายเช็ก และทรงมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซียและสันตะปาปาลีโอที่ ๑๓ (Leo XIII) ให้ร่วมกับพระองค์เป็นผู้แทนฝ่ายองค์รัชทายาทในการเจรจาหว่านล้อมจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph)* จนพระองค์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อาร์ชดุ๊กฟรานซิสเฟอร์ดินานด์อภิเษกสมรสกับเคาน์เตสโซฟีได้ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ จึงไม่ทรงลังเลพระทัยที่จะสนับสนุนออสเตรีย-ฮังการีในการใช้มาตรการรุนแรงทางทหารปราบปรามขบวนการชาตินิยมชาวเซิร์บ และการยื่นคำขาด ๑๐ ข้อให้รัฐบาลเซอร์เบียรับผิดต่อเหตุการณ์ดังกล่าวภายในเวลา ๔๘ ชั่วโมง แต่เซอร์เบียตอบรับได้เพียง ๘ ข้อ และส่งคำขาดที่ไม่สามารถตอบรับได้ไปให้ศาลโลกที่กรุงเฮก (The Hague) พิจารณา ออสเตรีย-ฮังการีซึ่งไม่พอใจในคำตอบและการกระทำของเซอร์เบียจึงประกาศสงครามต่อเซอร์เบียเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ รัสเซียในฐานะผู้พิทักษ์ชนเผ่าสลาฟก็ประกาศระดมพลเพื่อช่วยเหลือเซอร์เบียไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ มีพระราชสารถึงซาร์นิโคลัสที่ ๒ ขอให้หยุดการระดมพลแต่ล้มเหลว เยอรมนีจึงประกาศสงครามกับรัสเซียเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม อีก ๒ วันต่อมาก็ประกาศสงครามกับฝรั่งเศสทั้งส่งกองทัพบุกฝรั่งเศสผ่านเบลเยียมตามแผนชลีฟเฟิน (Schlieffen Plan)* เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ในวันเดียวกันอังกฤษก็ประกาศสงครามกับเยอรมนี สงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงเกิดขึ้นในที่สุด การเกิดสงครามมีส่วนทำให้ในเวลาต่อมาเยอรมนีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสงครามซึ่งบางครั้งเรียกกันว่า สงครามของไกเซอร์ (Kaiser’s War)

 เมื่อสงครามดำเนินไปได้ในระยะหนึ่งไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงตระหนักว่าพระองค์ขาดความสันทัดทางการทหารและสงครามรวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินก็กลายเป็นปัญหาหนักของพระองค์ จึงทรงปล่อยให้การทำสงครามหลัง ค.ศ. ๑๙๑๖ เป็นต้นไปอยู่ในความรับผิดชอบของจอมพล เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพเยอรมัน และพลเอก เอริช ลูเดนดอร์ฟ (Erich Ludendorff)* คนสนิทของฮินเดนบูร์ก ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ฮินเดนบูร์กจัดตั้งคณะผู้ปกครองประเทศที่เรียกชื่อว่า “Third Supreme Council” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ชั่วคราวแทนสภาไรค์ชตากและรัฐบาลโดยมุ่งระดมแรงงานและทรัพยากรในภาคเศรษฐกิจทั้งหมดสนับสนุนการทำสงครามคณะผู้ปกครองประเทศซึ่งประกอบด้วยฝ่ายทหารและฝ่ายธุรกิจอุตสาหกรรมจึงมีอำนาจเด็ดขาดแบบเผด็จการและทำให้อำนาจของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ลดลงอย่างมาก พระองค์ทรงกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ของกองทัพและหน้าที่หลักของพระองค์คือการเสด็จเยี่ยมแนวรบและโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ การพระราชทานรางวัลและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตลอดจนมีพระราชดำรัสให้กำลังใจแก่เหล่าทหารเท่านั้น ขณะเดียวกัน ฮอลล์เวกซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายของคณะผู้ปกครองประเทศก็ถูกบีบให้ลาออกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗

 เมื่อรัสเซียเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ที่กรุงเปโตรกราด (Petrograd) ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ที่ปกครองจักรวรรดิรัสเซียมากว่า ๓๐๐ ปี ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงเห็นชอบกับแผนของฝ่ายกองทัพในการสนับสนุนให้วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Workers’ Party)* หรือพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* รวมกับสหายอีก ๑๘ คน เดินทางจากสวิตเซอร์แลนด์โดยขบวนตู้รถไฟปิดที่รัฐบาลเยอรมันจัดให้เป็นพิเศษผ่านสวีเดนและฟินแลนด์กลับเข้ารัสเซีย ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ คาดหวังว่าเลนินและสหายจะทำให้สถานการณ์การเมืองภายในรัสเซียเลวร้ายลงซึ่งจะนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามในแนวรบด้านตะวันออกและเปิดโอกาสให้เยอรมนีสามารถพิชิตแนวรบด้านตะวันตกได้ง่ายขึ้นพระองค์ทรงคาดการณ์ถูกเพราะอีก ๗ เดือนต่อมา ก็เกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ขึ้นและมีผลให้รัสเซียต้องถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทั้งถูกบีบให้ลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of BrestLitovsk)* กับเยอรมนีในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘

 หลังรัสเซียถอนตัวออกจากสงคราม เยอรมนีก็ระดมกำลังบุกแนวรบด้านตะวันตกและนำไปสู่ยุทธการที่แม่น้ำมาร์น (Battle of the Marne)* ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๘ กรกฎาคมถึงวันที่ ๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ แต่ฝรั่งเศสก็ต้านการบุกไว้ได้อย่างทรหดอย่างไรก็ตาม สถานการณ์รบเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อสหรัฐอเมริกาส่งกำลังทหารมาหนุนช่วยอย่างต่อเนื่องเยอรมนีกลายเป็นฝ่ายตั้งรับและล่าถอย ในเดือนกันยายนกองทัพเยอรมันก็ถูกตีแตกยับเยินในแนวรบร่วมกับบัลแกเรียจนต้องล่าถอยออกจากแนวรบฮินเดนบูร์ก (Hindenburg Line)* ความพ่ายแพ้ของกองทัพเยอรมันทำให้ผู้นำกองทัพเกรงว่าฝ่ายพันธมิตรจะเคลื่อนกำลังเข้าสู่พื้นที่ตอนในของประเทศและอาจนำไปสู่การเกิดการจลาจลภายในได้ จึงเสนอให้รัฐบาลเยอรมันเปิดการเจรจาสงบศึก ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ก็ทรงเห็นด้วย ขณะเดียวกันมัททีอัสแอร์ซแบร์เกอร์ (Matthias Erzberger)* ผู้นำปีกซ้ายของพรรคเซนเตอร์ (Centre Party)* เห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวปฏิรูปทางการเมืองและทำให้เจ้าชายมักซีมีเลียนแห่งบาเดิน (Maximilian of Baden)* หรือเจ้าชายมักซ์ซึ่งมีแนวคิดเสรีนิยมได้รับเลือกเป็นอัครมหาเสนาบดีคนใหม่

 อย่างไรก็ตาม ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรปฏิเสธที่จะเจรจาสงบศึกกับรัฐบาลของเจ้าชายมักซ์จนกว่าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ จะสละราชย์แต่พระองค์ทรงปฏิเสธโดยอ้างเหตุผลว่าจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายเพราะกองทัพที่ถอยกลับเข้าประเทศอาจก่อความวุ่นวายในภาวะการณ์ขาดผู้นำประเทศ และพระองค์ยังคงได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ พวกอนุรักษนิยมและชาตินิยม การบีบบังคับให้ไกเซอร์สละราชย์และปัญหาการเจรจาสงบศึกได้สร้างความโกรธแค้นแก่กองทัพเรือและท้ายที่สุดนำไปสู่การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยมีศูนย์กลางการเคลื่อนไหวปฏิวัติที่เมืองคีล (Kiel) มิวนิก (Munich) และกรุงเบอร์ลิน รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เจ้าชายมักซ์จึงถูกบีบให้ลาออกและยุบสภา ทั้งเห็นเป็นโอกาสประกาศการสละราชบัลลังก์ของไกเซอร์วิลเลียมที่๒โดยไม่รอการตัดสินพระทัยจากพระองค์ ฟรีดริช เอแบร์ท (Friedrich Ebert)* ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่ทำให้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ซึ่งประทับที่เมืองสปา (Spa) ประเทศเบลเยียมต้องประกาศสละราชย์เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน เพราะกองทัพทูลพระองค์ว่าจะสนับสนุนรัฐบาลชุดใหม่และการสละราชย์คือวิธีเดียวที่จะแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ ในวันรุ่งขึ้นไกเซอร์ก็เสด็จลี้ภัยไปประทับที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งดำเนินนโยบายเป็นกลาง อีก ๑ สัปดาห์ต่อมาพระมเหสีและเจ้าชายวิลเลียมมกุฎราชกุมารก็เสด็จไปสมทบ ส่วนพระราชโอรสองค์อื่น ๆ และพระราชธิดายังคงประทับในเยอรมนีโดยรัฐบาลสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๓๓)* กำหนดเงื่อนไขให้สมาชิกของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นต้องไม่มีบทบาททางการเมืองและสังคม และดำเนินชีวิตอย่างสงบเงียบ

 ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ในช่วงปีแรกประทับที่เมืองอาเมอรองเงิน (Amerongen) โดยเป็นอาคันตุกะพิเศษของเคานต์เบนทิงค์ (Bentinck) ขุนนางชาวดัตช์สถานภาพของพระองค์ไม่ค่อยมั่นคงนักเพราะมีการเคลื่อนไหวของฝ่ายสัมพันธมิตรที่พยายามกดดันให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ส่งพระองค์ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อพิจารณาคดีในฐานะอาชญากรสงครามที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการก่อสงคราม ในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ค.ศ. ๑๙๑๙ เยอรมนีถูกบีบบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ซึ่งมีเงื่อนไขที่รุนแรงเพื่อลงโทษเยอรมนี ในมาตราที่ ๒๒๗ ของสนธิสัญญากำหนดว่าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลระหว่างประเทศซึ่งมีคณะผู้พิพากษาที่เป็นผู้แทนของประเทศสัมพันธมิตรรวม ๕ คนเป็นคณะผู้ตัดสิน และรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องส่งพระองค์ข้ามแดนมาพิจารณาโทษอย่างไรก็ตามรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ปฏิเสธที่ให้ความร่วมมือด้วยและสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินา (Wilhelmina ค.ศ. ๑๘๙๐–๑๙๔๘)* แห่งเนเธอร์แลนด์และพระเจ้าอัลเบิร์ต (Albert) แห่งเบลเยียมทรงไม่ยอมรับข้อหาที่ว่าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ เป็นอาชญากรสงครามขณะเดียวกันประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาก็ต่อต้าน ทั้งฝรั่งเศสก็เพิกเฉย การจะพิจารณาคดีไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ จึงหมดความสำคัญลงและหลังเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ก็ไม่ได้รับความสนใจอีกต่อไป

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๐ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักโดร์นซึ่งเป็นที่ประทับถาวรจนเสด็จสวรรคต ส่วนพระมเหสีซึ่งยังไม่ทันจะปรับพระองค์กับสภาพแวดล้อมและสถานที่ประทับใหม่ทรงทุกข์พระทัยจากปัญหาการเมืองที่พระราชสวามีทรงเผชิญอยู่ รวมทั้งการที่เจ้าชายโยอาคิม (Joachim) พระราชโอรสองค์เล็กทรงก่ออัตวินิบาตกรรมใน ค.ศ. ๑๙๒๐ เพราะไม่สามารถยอมรับเรื่องการสละบัลลังก์ของพระราชบิดา ทั้งมีปัญหาส่วนพระองค์กับพระชายา จักรพรรดินีสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๑ พระศพถูกอัญเชิญกลับมาเยอรมนีตามพระราชประสงค์และบรรจุไว้ที่สุสานพระราชวงศ์ที่ Temple of Antiquities ซึ่งไม่ห่างจากเมืองพอทสดัม (Potsdam) เท่าใดนัก ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ เสด็จตามขบวนพระศพจนถึงพรมแดน ในช่วงที่ขบวนพระศพผ่านตามเมืองต่าง ๆ ประชาชนจำนวนมากเฝ้ารอเพื่อถวายความจงรักภักดีและความอาลัย ในกรุงเบอร์ลินประชาชนกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คนเฝ้าคอยเคารพขบวนพระศพปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงถึงความผูกพันของประชาชนที่มีต่อราชวงศ์และต่อจักรพรรดินี แม้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ จะทรงโทมนัสกับการสวรรคตของพระมเหสีแต่ก็ทรงได้รับการปลอบพระทัยจากเจ้าหญิงแฮร์มีเนอแห่งเชอไนช์-คาโรลัท (Hermine of Schönaich-Carolath) พระธิดาในเจ้าชายเฮนรีที่ ๒๒ เรอุสส์ (Henry XXII Reuss) เจ้าหญิงแฮร์มีเนอมีพระชันษา ๓๔ ปี ทรงเป็นม่ายและมีพระโอรสและพระธิดารวม๕พระองค์ ทรงเป็นแขกพิเศษของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ซึ่งทรงชื่นชมพระสิริโฉมและเบิกบานพระทัยเมื่ออยู่ใกล้ ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๒ ไกเซอร์ทรงประกาศที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง แต่ทรงได้รับการต่อต้านอย่างมากทั้งจากพระราชวงศ์และกลุ่มกษัตริย์นิยม แต่ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ขณะพระชนมายุ ๖๓ พรรษาก็ทรงมุ่งพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวจนในที่สุดฝ่ายต่อต้านยอมตามพระราชประสงค์ พระองค์อภิเษกสมรสใหม่เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๒ อย่างไรก็ตาม ด้วยวัยและอุปนิสัยที่แตกต่างกันมากทำให้ต่อมาทรงปลีกพระองค์ในการดำเนินชีวิตและพระมเหสีเป็นเพียงพระสหายที่ใกล้ชิดเท่านั้น ความสนพระทัยที่ตรงกันทั้ง ๒ พระองค์คือการจะฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

 ในต้นทศวรรษ ๑๙๒๐ ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปให้ความสนใจเกี่ยวกับการโต้แย้งและการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของเอกสารพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน (Protocols of the Learned Elders of Zion)* ว่าเป็นเอกสารจริงหรือเอกสารปลอม ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ซึ่งมีแนวความคิดต่อต้านชาวยิว (AntiSemitism)* อยู่แล้วจึงมีพระทัยโน้มเอียงที่จะไม่ยอมเชื่อว่าพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออนเป็นเอกสารปลอม ในเยอรมนีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมนีหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ก็ไม่ยอมรับว่าพิธีสารของปราชญ์อาวุธแห่งไซออนเป็นเรื่องแต่งและเป็นเอกสารปลอมด้วย ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงเห็นว่าสาธารณรัฐไวมาร์เป็นสาธารณรัฐที่พวกยิวจัดตั้งขึ้นและได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากพวกยิว ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ พระองค์ทรงพิมพ์เผยแพร่หนังสือบันทึกความทรงจำเล่มแรกซึ่งทรงแก้ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับนโยบายการปกครองของพระองค์โดยเฉพาะด้านนโยบายต่างประเทศ โดยทรงยืนยันว่าพระองค์ไม่มีส่วนรับผิดชอบในการก่อสงคราม ทรงอ้างว่าพวกยิวมีส่วนผลักดันการเกิดสงคราม และมีบทบาทสำคัญเบื้องหลังการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘

 เมื่อพรรคนาซีมีชัยชนะในการเลือกตั้งเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๐ โดยได้คะแนน ๑๐๗ เสียงเป็นอันดับ ๒ ในสภาไรค์ชตากรองจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันซึ่งได้คะแนน ๑๔๓ เสียง ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงยินดีกับชัยชนะของพรรคนาซีเพราะคาดหวังว่าจะมีการฟื้นฟูสถานะของกษัตริย์ขึ้นในเยอรมนีอีกครั้งหนึ่ง เจ้าชายเอากุสท์ วิลเฮล์ม (August Wilhelm) พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ได้เข้าเป็นสมาชิก เอสเอส (SS)* หรือชุทซ์ชตัฟเฟิล (Schutzstaffel) ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ โดยพระองค์พระราชทานพระบรมราชานุญาต และพระมเหสีองค์ใหม่ก็มีพระสหายหลายคนที่เป็นสมาชิกระดับสูงในพรรคนาซี ทั้งทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Rally)* ค.ศ. ๑๙๒๙ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ จึงเห็นเป็นโอกาสใช้ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงดังกล่าวเชิญแฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง (Herman Wilhelm Göring)* ผู้นำคนสำคัญของพรรคนาซีเป็นแขกของพระองค์ที่โดร์น ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๑ เพื่อหารือในความเป็นไปได้ของการจะรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ในเยอรมนี เกอริงได้กราบทูลพระองค์ว่ามีความเป็นไปได้ และในการพบกันครั้งที่ ๒ ในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๓๒ เกอริงก็ทูลพระองค์ว่าฮิตเลอร์ไม่คัดค้านที่ราชวงศ์จะกลับคืนสู่อำนาจ

 อย่างไรก็ตาม หลังฮิตเลอร์ก้าวสู่อำนาจทางการเมือง เขาดำเนินนโยบายสร้างฐานอำนาจทางการเมืองให้แข็งแกร่งด้วยการกวาดล้างกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามและทำลายอำนาจอธิปไตยของรัฐเยอรมันต่าง ๆ ตามแนวทางไกลช์ชาลทุง (Gleichschaltung)* ด้วยกระบวนการประสานงานและการควบคุมอย่างเข้มงวดของพรรคนาซีต่อองค์กรทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมของเยอรมนี นโยบายของฮิตเลอร์ทำให้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ เริ่มไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่พรรคนาซีเคยกล่าวไว้และทรงไม่ไว้วางใจฮิตเลอร์ พระองค์ทรงประเมินสถานการณ์ได้แม่นยำเพราะในวันที่ ๒๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์มีคำสั่งห้ามการจัดงานฉลองพระชนมายุ ๗๕ พรรษาของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ และอีกไม่กี่วันต่อมาก็มีกฎหมายยุบองค์การต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ จึงเห็นว่าฮิตเลอร์ได้ประกาศสงครามกับพระองค์ ต่อมาเมื่อทรงทราบข่าวเหตุการณ์คืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives)* ซึ่งเป็นการกวาดล้างหน่วยเอสเอ (SA)* และกลุ่มศัตรูทางการเมืองของพรรคนาซีพระองค์ทรงต่อต้านและเห็นว่าพรรคนาซีกำลังอยู่เหนือกฎหมาย หลังเหตุการณ์ครั้งนี้พระองค์และพระมเหสีทรงตัดความสัมพันธ์กับพรรคนาซีและต่อต้านฮิตเลอร์อย่างเปิดเผย ทั้งหมดความสนพระทัยที่จะติดตามข่าวสถานการณ์ในเยอรมนี

 อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมนีมีชัยชนะต่อโปแลนด์ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงพอพระทัยกับข่าวที่ได้รับและหันมาสนพระทัยข่าวและสถานการณ์ในเยอรมนีอีกครั้งหนึ่ง เมื่อฝรั่งเศสยอมจำนนในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France ค.ศ. ๑๙๔๐)* ในต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ปีติพระทัยในชัยชนะของเยอรมนี ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นการล้างแค้นความปราชัยใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ได้อย่างงดงาม พระองค์ทรงส่งข่าวผ่านผู้แทนพระองค์มาถึงฮิตเลอร์ว่าราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นยังคงจงรักภักดีต่อมาตุภูมิและชัยชนะของเยอรมนีเป็นชัยชนะที่พระเป็นเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ ฮิตเลอร์ไม่สนใจพระองค์และให้ความเห็นว่าทรงเป็นเสมือนหุ่นเชิดธรรมดา ๆ ตัวหนึ่ง โยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbles)* คนสนิทของฮิตเลอร์กล่าวว่าพระองค์เป็นคนโง่ที่เลวร้าย หลังเยอรมนียึดครองเนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงเก็บพระองค์เงียบและไม่ปรากฏเป็นข่าว อีก ๑ ปีต่อมาไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ซึ่งมีพระชนมายุ ๘๒ พรรษา ประชวรบ่อยครั้ง และพระพลานามัยทรุดโทรมลงตามลำดับ ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ณ พระตำหนักโดร์น

 ฮิตเลอร์ต้องการให้นำพระศพกลับมาบรรจุไว้ที่พอทสดัมในเยอรมนี โดยมุ่งหวังจะจัดงานรัฐพิธีอย่างยิ่งใหญ่เพื่อให้ประชาชนได้เห็นฟือเรอร์ (Führer)* เดินตามหลังหีบพระศพซึ่งสะท้อนการสืบทอดอำนาจของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* จากจักรวรรดิเยอรมัน แต่ความปรารถนาของเขาก็ล้มเหลวเพราะไกเซอร์วิลเลียมที่๒ทรงเคยมีคำสั่งห้ามไม่ให้นำพระศพกลับมาเยอรมนีจนกว่าจะมีการสถาปนาระบอบกษัตริย์ขึ้น รัฐบาลนาซีจึงจำต้องปฏิบัติตามพระราชประสงค์และได้ส่งผู้แทนจำนวนหนึ่งมาร่วมในงานพิธีพระศพที่โดร์น เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ปัจจุบัน ในวันครบรอบวันสวรรคตจะมีชาวเยอรมันจำนวนหนึ่งที่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์เดินทางมาเคารพสักการะสุสานไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิเยอรมันเป็นประจำทุกปี.



คำตั้ง
William II
คำเทียบ
ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒
คำสำคัญ
- กฎหมายต่อต้านสังคมนิยม
- การจู่โจมของเจมสัน
- การชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- การประชุมอัลเคซีรัส
- การรวมชาติเยอรมัน
- เกรย์, เซอร์เอดเวิร์ด
- เกรย์, เอดเวิร์ด
- เกอริง, แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม
- เกิบเบิลส์, โยเซฟ เพาล์
- ไกลช์ชาลทุง
- ความคิดต่อต้านชาวยิว
- ความตกลงฉันมิตร
- ความตกลงฝรั่งเศส-รัสเซีย
- ความตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส
- ความตกลงอังกฤษ-รัสเซีย
- คืนแห่งมีดยาว
- จอร์จ, เดวิด ลอยด์
- จอร์จ, ลอยด์
- เดรดนอต
- เทียร์พิทซ์, จอมพลเรือ อัลเฟรด ฟอน
- เทียร์พิทซ์, อัลเฟรด ฟอน
- โทรเลขครูเกอร์
- นาซี
- แนวความคิดต่อต้านชาวยิว
- แนวรบฮินเดนบูร์ก
- บอลเชวิค
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- บือโลว์, แบร์นฮาร์ด ฟอน
- ปัญหาตะวันออก
- แผนชลีฟเฟิน
- พรรคเซนเตอร์
- พรรคนาซี
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- พิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน
- ฟือเรอร์
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- ยุทธการที่แม่น้ำมาร์น
- ระบบบิสมาร์ค
- ลูเดนดอร์ฟ, พลเอก เอริช
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช
- เลนิน, วลาดีมีร์
- วันอาทิตย์นองเลือด
- วิกฤตการณ์บอลข่าน
- วิกฤตการณ์โมร็อกโก
- วิกฤตการณ์อากาดีร์
- สงครามของไกเซอร์
- สงครามบอลข่าน
- สงครามบัวร์
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาบเยอร์เกอ
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สนธิสัญญาประกันพันธไมตรี
- สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาไรค์ชตาก
- ออสเตรีย-ฮังการี
- เอแบร์ท, ฟรีดริช
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮอลล์เวก, เทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮินเดนบูร์ก, จอมพล เพาล์ ฟอน
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1859–1941
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๑๒–๒๔๘๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-